จังหวัดกระบี่

 
 
 
 

     กระบี่ เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานได้ว่า บริเวณเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ กล่าวกันว่าดินแดนนี้แต่เดิมคือ เมืองบันไทยสมอ 1 ใน 12 เมืองนักษัตร ที่ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมืองขึ้นกับอาณาจักรนครศรีธรรมราช

จังหวัดกระบี่ ตั้งขั้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า “แขวงเมืองปกาสัย” พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดเมืองฯ มาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างในท้องถิ่นที่ตำบลปกาสัย และได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดเมืองฯ ได้ยกตำบลปกาสัยขั้นเป็น “แขวงเมืองปกาสัย” ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

ประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัย และพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี พ.ศ. 2443 สมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงย้ายมาที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวกทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

ความหมายของคำว่า “กระบี่”
     มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นานก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่เห็นว่าเป็นดาบโบราณสมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ขณะนั้นยังสร้างเมืองไม่เสร็จ จึงได้นำดาบไปเก็บไว้ในถ้ำเขาขนาบน้ำหน้าเมืองโดยวางดาบหรือกระบี่ไขว้กัน ซึ่งลักษณะการวางดาบหรือกระบี่ไขว้ เป็นสัญลักษณ์ของตราประจำจังหวัด คือรูปดาบไขว้ด้านหลังมีภูเขาและทะเล โดยบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่ใหญ่” บ้านที่ขุดพบดาบเล็กได้ตั้งชื่อว่า “บ้านกระบี่น้อย” 
แต่มีอีกตำนานหนึ่ง สันนิษฐานว่า คำว่า “กระบี่” อาจเรียกชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น “หลุมพี” จึงเรียกชื่อท้องถิ่นว่า “บ้านหลุมพี” ต่อมามีชาวมลายูและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายไดเรียกเพี้ยนเป็น “บ้าน-กะ-ลู-บี” หรือ “คอโลบี” นานๆ เข้าก็ได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า “กระบี่

ข้อมูลทั่วไปของ จังหวัด กระบี่


     แหล่งถ่านหิน ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะ
     เพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน
 สวรรค์เกาะพีพ


     กระบี่ เมืองชายทะเลในฝัน งดงามด้วยหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ปะการังสวย ถ้ำโตรกชะโงกผา และหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ รวมกันเป็นมนต์เสน่ห์ที่สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน

     กระบี่ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ห่าวจากกรุงเทพฯ 814 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 4,708 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขา ที่ดอน ที่ราบ หมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ อุดมไปด้วยป่าชายเลน ตัวเมืองกระบี่มีแม่น้ำยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ไหลผ่านลงสู่ทะเลอันดามันที่ตำบลปากน้ำ นอกจากนี้ยังมีคลองปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดกระบี่ คือ เทือกเขาพนมเบญจา จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าบริเวณเมืองกระบี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมืองกระบี่ว่า อาจมาจากความหมายที่แปลว่าดาบ เนื่องจากมีตำนานเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกัยการขุดพบมีดดาบโบราณก่อนที่จะสร้างเมือง

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดพังงาและจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทิศใต้ ติดกับจังหวัดตรังและทะเลอันดามัน

ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดพังงาและทะเลอันดามัน

สภาพทั่วไป


ที่ตั้งและอาณาเขต

     จังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ ติดกับทะเลอันดามัน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ถ.เพชรเกษม) ประมาณ 814 กม. มีพื้นที่ทั้งหมด 4,708,512 ตร.กม. หรือประมาณ 2,942,820 ไร่

อาณาเขตติดต่อ

     ทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.พังงา และ จ.สุราษฏร์ธานี ทางด้าน อ.ปลายพระยา และ อ.เขาพนม

     ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.ตรัง และ ทะเลอันดามัน ทางด้าน อ.เกาะลันตา อ.เมืองกระบี่ และ อ.เหนือคลอง

     ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ตรัง ทางด้าน อ.เขาพนม อ.คลองท่อม และ อ.ลำทับ 

     ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.พังงา และทะเลอันดามัน ทางด้าน อ.อ่าวลึก และ อ.เมืองกระบี่

สภาพภูมิประเทศ

     สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของจังหวัดกระบี่ ทางตอนเหนือประกอบด้วยเทือกเขายาวทอดตัวไปในแนวเหนือใต้ สลับกับสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด และลอนชัน มีที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก บริเวณทางใต้ มีสภาพภูมิอากาศเป็นภูเขากระจัดกระจาย สลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่น ส่วนบริเวณทางตอนใต้สุดและตะวันตกเฉียงใต้ มีสภาพพื้นที่เป็นแบบลูกคลื่นลอนลาดจนถึงค่อนข้างเรียบ และมีภูเขาสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไป บริเวณด้านตะวันตกมีลักษณะ เป็นชายฝั่งติดกับทะเลอันดามันยาวประมาณ 160 กม. ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ประมาณ 130 เกาะ แต่เป็นเกาะที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 13 เกาะ เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตา เป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะลันตา และเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับของโลก บริเวณตัวเมืองมีแม่น้ำกระบี่ ยาวประมาณ 5 กม. ไหลผ่านลงสู่ทะเลอันดามัน ที่ ต.ปากน้ำ นอกจากนี้ยังมีคลองปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย ซึ่งมี่ต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาพนมเบญจา เทือกเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดกระบี่

ักษณะภูมิอากาศ

     จังหวัดกระบี่ มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกชุกตลอดปี และมีเพียง 2 ฤดู คือ

     - ฤดูร้อน มี 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนเมษายน

     - ฤดูฝน มี 8 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงเดือนตุลาคม

     ที่เรียกกันว่า ฝนแปดแดดสี่


หน่วยการปกครอง

     จังหวัดกระบี่ แบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกระบี่ อ.อ่าวลึก อ.ปลายพระยา อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา อ.ลำทับ อ.เหนือคลอง และ อ.เขาพนม รวม 51 ตำบล 383 หมู่บ้าน 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 เทศบาลเมือง 9 เทศบาลตำบล และ 51 องค์การบริหารส่วนตำบล

ตราประจำจังหวัดกระบี่

     รูปกระบี่ไขว้ เบื้องหลังมีภูเขาและทะเล กระบี่ไขว้ หมายถึง อาวุธโบราณซึ่งมีผู้ค้นพบในท้องที่จังหวัด จำนวน 2 เล่ม ภูเขา หมายถึงเทือกเขาพนมเบญจา ซึ่งเป็นภูเขาสูงสุดของกระบี่ ซับซ้อนกันถึง 5 ยอด จึงเรียกว่า พนมเบญจา มีเมฆปกคลุมตลอดเวลา และกั้นเขตแดนกับจังหวัดอื่น ทะเล หมายถึง อาณาเขตอีกด้านหนึ่งของกระบี่ ซึ่งติดกับฝั่งทะเลอันดามันหรือมหาสมุทรอินเดีย

ธงประจำจังหวัด

 

เหรียญที่ระลึกประจำจังหวัดกระบี่

     ประเภทเหรียญ : เหรียญที่ระลึกประจำจังหวัด [ กระบี่ ]

หลังเหรียญ : กระบี่ไขว้ ภูเขา (เทือกเขาพนมเบญจา) และทะเล

หน้าเหรียญ : เกาะพีพี

ดอกไม้ประจำจังหวัด

     ทุ้งฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia macrophylla Wall. ex G. DonX) วงศ์ APOCYNACEAE

ทุ้งฟ้าเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดกระบี่ โดยเป็นพันธุ์ไม้ พระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนารถเพื่อปลูกเป็นไม้มงคลจังหวัดกระบี่ ลักษณะ เป็นไม้ยืนต้น สูง 15-30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง กิ่งใหญ่ตั้งฉากกับลำต้น เปลือกสีขาวอมเทามี น้ำยางสีขาว เรีอนยอดค่อนข้างโปร่ง ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงรอบข้อข้อละ 3-4 ใบสลับกันไปตามปลายกิ่ง แผ่นใบรูปหอกกลับ ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเหลือง ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน –เดือนมกราคม ผล เป็นฝักเรียวยาว เมื่อฝักแก่จะบิดเป็นเกลียวและแตกออก ปล่อยให้เมล็ดที่มีขนสีขาวปลิวไปตามลม ประโยชน์ทั่วไป เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นกระดาน ฝา และเครื่องใช้ทั่วไป และสามารถใช้เปลือกต้นและราก บำรุงกำลังและบำรุงกำหนัด แก้ไข้ แก้บิด รักษาบาดแผล